การทดสอบการด้อยค่า (Impairment Test) ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 36 (TAS 36)
มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 36 (TAS 36) เรื่อง การด้อยค่าของสินทรัพย์ กำหนดวิธีการในการพิจารณาว่าสินทรัพย์ของกิจการมีมูลค่าที่สูงเกินไปหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจว่าสินทรัพย์ในงบการเงินไม่ได้แสดงมูลค่าที่สูงกว่ามูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน (Recoverable Amount)
ขอบเขตของสินทรัพย์ภายใต้ TAS 36
สินทรัพย์ที่ต้องทำการทดสอบการด้อยค่าตามมาตรฐานนี้ ได้แก่:
• ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์
• สินทรัพย์ไม่มีตัวตน รวมถึงค่าความนิยม (Goodwill)
• เงินลงทุนในบริษัทย่อย บริษัทร่วมค้า และการร่วมค้า
ขั้นตอนการทดสอบการด้อยค่า
1. การกำหนดระดับการทดสอบ: กำหนดว่าการทดสอบการด้อยค่าจะทำในระดับสินทรัพย์รายตัวหรือหน่วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเงินสด (Cash Generating Unit: CGU)
2. พิจารณา CGU: หากเลือกไม่ทดสอบการด้อยค่าที่ระดับสินทรัพย์รายตัว ให้พิจารณาในระดับ CGU ซึ่งเป็นกลุ่มสินทรัพย์ที่เล็กที่สุดที่สามารถสร้างกระแสเงินสดรับได้อย่างอิสระจากสินทรัพย์หรือกลุ่มสินทรัพย์อื่นๆ
3. การพิจารณาข้อบ่งชี้การด้อยค่า: ตรวจสอบว่ามีข้อบ่งชี้ที่แสดงถึงการด้อยค่าโดยใช้ข้อมูลจากทั้งแหล่งภายในและภายนอกหรือไม่ สำหรับสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ไม่ทราบอายุการใช้ประโยชน์แน่ชัดหรือค่าความนิยม ต้องทดสอบการด้อยค่าทุกปี โดยไม่คำนึงถึงข้อบ่งชี้ของการด้อยค่า
4. การทดสอบการด้อยค่า: เมื่อมีข้อบ่งชี้ของการด้อยค่า ให้ทำการทดสอบเพื่อวัดมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนของสินทรัพย์หรือ CGU เทียบกับมูลค่าตามบัญชี
หลักการของการทดสอบการด้อยค่า
การทดสอบการด้อยค่าจะพิจารณาโดยการเปรียบเทียบ มูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน (Recoverable Amount) กับ มูลค่าตามบัญชี (Book Value) ของสินทรัพย์:
• หาก มูลค่าตามบัญชี สูงกว่า มูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน จะต้องรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่า ซึ่งเท่ากับผลต่างระหว่างมูลค่าทั้งสอง
การคำนวณมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน
มูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนของสินทรัพย์หรือ CGU จะพิจารณาจากมูลค่าที่สูงกว่าในสองจำนวนนี้:
1. มูลค่ายุติธรรมหักด้วยต้นทุนในการจำหน่าย (Fair Value Less Costs to Sell: FVLCTS): จำนวนที่จะได้รับจากการขายสินทรัพย์หรือ CGU หลังจากหักต้นทุนในการจำหน่าย โดยที่การต่อรองซื้อขายเป็นอิสระ
2. มูลค่าจากการใช้ (Value in Use: VIU): มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดในอนาคตที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้สินทรัพย์หรือ CGU