
การประเมินมูลค่าหุ้นและบริษัท (Fair Value Valuation) คือ ?
การประเมินมูลค่าหุ้นและบริษัท (Fair Value Valuation) คือ กระบวนการในการประเมินมูลค่าที่แท้จริง ของกิจการ บริษัท เงินลงทุน หรือ ตราสารทุน โดยมูลค่าดังกล่าว เรียกว่า มูลค่ายุติธรรม (Fair Value) เพื่อสะท้อนมูลค่าที่เหมาะสมที่สุดในสภาวะตลาด ณ ช่วงเวลานั้น ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ในหลายสถานการณ์ เช่น การตัดสินใจลงทุน การควบรวมกิจการ (M&A) การจัดทำบัญชีตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน (เช่น TFRS 9) และการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ของผู้บริหารหรือนักลงทุน เป็นต้น
แล้ว มูลค่ายุติธรรม (Fair Value) คือ ?
มูลค่ายุติธรรม (Fair Value) คือ ราคาที่จะได้รับจากการขายสินทรัพย์ หรือจะจ่ายเพื่อโอนหนี้สินในรายการที่เกิดขึ้นในสภาพปกติระหว่างผู้ร่วมตลาด (Market Participant) ณ วันที่วัดมูลค่า
กล่าวอีกนัยหนึ่ง มูลค่ายุติธรรมคือราคาที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่มีความรู้และเข้าใจถึงลักษณะของสินทรัพย์หรือหนี้สินนั้นเป็นอย่างดี และมีความเต็มใจในการซื้อขายกัน โดยไม่อยู่ภายใต้แรงกดดัน ความเร่งรีบ หรือมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบจากอีกฝ่าย ซึ่งราคานี้ควรสะท้อนสภาพตลาดตามความเป็นจริงและแสดงถึงความโปร่งใส ยุติธรรม และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในตลาดทั่วไป ณ วันประเมินมูลค่านั้น ๆ
เทคนิคในการประเมินมูลค่ายุติธรรม
ในการประเมินมูลค่ายุติธรรม สามารถใช้เทคนิคในการประเมินได้หลากหลายวิธี โดยทั่วไปแบ่งเป็น 3 เทคนิคหลัก ดังนี้
-
วิธีตลาด (Market Approach): เปรียบเทียบกับราคาจริงของสินทรัพย์หรือธุรกรรมที่ใกล้เคียงในตลาด
-
วิธีต้นทุน (Cost Approach): พิจารณาต้นทุนในการสร้างหรือทดแทนสินทรัพย์ใหม่ที่มีลักษณะเหมือนกัน
-
วิธีรายได้ (Income Approach): คำนวณจากกระแสเงินสดหรือรายได้ในอนาคต แล้วคิดลดมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน
แล้วทำไมถึงต้องประเมิน ?
การประเมินมูลค่าหุ้นและบริษัท (Fair Value Valuation) มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจและการลงทุน เนื่องจากช่วยให้ผู้บริหาร นักลงทุน และผู้เกี่ยวข้องได้ทราบถึงมูลค่าที่แท้จริงของกิจการ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน การวางแผนเชิงกลยุทธ์ การจัดสรรทรัพยากร หรือการดำเนินการควบรวมกิจการ (M&A) การประเมินมูลค่าหุ้นช่วยสะท้อนภาพรวมสถานะทางการเงินและศักยภาพของบริษัทได้ชัดเจนขึ้น และยังช่วยในการระบุจุดแข็ง จุดอ่อน รวมถึงโอกาสและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงถือเป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการบริหารจัดการและการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ การประเมินมูลค่าหุ้นและกิจการยังช่วยสร้างโอกาสในธุรกิจได้ โดยสามารถแสดงให้เห็นถึง ความสามารถในการดำเนินงานที่ผ่านมาของบริษัท แนวทางการดำเนินธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แบบแผนกลยุทธ์ที่บริษัทจะเลือกใช้ในการพัฒนาและต่อยอดของธุรกิจ หรือแม้แต่การสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงจากราคาทุนด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้ผู้ใช้งบหรือผู้ที่สนใจในการลงทุนอื่น ๆ นั้นสามารถเข้าใจและเห็นเป้าหมายและความสำเร็จไปพร้อมกันกับบริษัทได้
การประเมินมูลค่าบริษัทไม่จำกัดเฉพาะบริษัทเจ้าของกิจการเท่านั้น หากมีการลงทุนหรือถือหุ้นในกิจการอื่น ๆ ก็สามารถประเมินมูลค่าได้เช่นกัน ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ในการประเมินอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท

วัตถุประสงค์ในการประเมินมูลค่ายุติธรรม (Fair Value) ของหุ้นและบริษัท
-
เพื่อใช้สำหรับการควบรวมหรือซื้อขายของกิจการ/บริษัท (Merge and Acquisition)
-
เพื่อใช้สำหรับพิจารณาการตัดสินใจภายในของกิจการ/บริษัท (Making Decision)
-
เพื่อใช้สำหรับการขยายโอกาสทางธุรกิจเช่นการเปิดรับการลงทุนในลักษณะของการร่วมทุน (Joint Venture)
-
เพื่อใช้สำหรับการเพิ่มทุนของบริษัท
-
เพื่อใช้สำหรับการรายงานและแสดงมูลค่าที่แท้จริงของการดำเนินงานของธุรกิจภายใต้งบการเงินที่เป็นมาตรฐาน
-
เพื่อใช้สำหรับการพิจารณาทางการเงินอื่น ๆ

วิธีการประเมินมูลค่ายุติธรรม (Fair Value) ของหุ้นและบริษัท
การประเมินมูลค่ายุติธรรม (Fair Value) ของหุ้นและบริษัทสามารถทำได้หลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความพร้อม ข้อจำกัดและความเหมาะสมของหลักการหรือวิธีการ บริษัทสามารถอ้างอิงถึงหลักการหรือวิธีการประเมินมูลค่าบริษัท ได้จากตัวอย่างด้านล่าง
-
วิธีมูลค่าตามบัญชี (Book Value Method)
-
วิธีอัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าตามบัญชี (Price to Book Value Ratio Method: P/BV Method)
-
วิธีอัตราส่วนราคาต่อหุ้นต่อกำไร (Price to Earnings Ratio Method: P/E Method)
-
วิธีมูลค่าหุ้นตามราคาตลาด (Market Price Approach)
-
วิธีคิดลดเงินปันผล (Dividend Discount Method: DDM Method)
-
วิธีมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดสุทธิ (Discounted Cash Flow Method: DCF Method)
-
วิธีมูลค่ากำไรคงเหลือ (Residual Income Method: RI Method)
การประเมินมูลค่าหุ้นตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS 9)
ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดประเภท วัดมูลค่า และการรับรู้ผลกำไรขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงิน รวมถึงหุ้นหรือตราสารทุนที่บริษัทลงทุน บริษัทจะต้องประเมินมูลค่าหุ้นตาม TFRS 9 ด้วยแนวคิด “มูลค่ายุติธรรม (Fair Value)” ซึ่งเป็นราคาที่คาดว่าจะได้รับหรือจ่ายในการซื้อขายสินทรัพย์ระหว่างผู้ร่วมตลาดตามสภาวะปกติ ณ วันที่ประเมิน
ทั้งนี้ การประเมินมูลค่าหุ้นตามแนวคิด Fair Value จะช่วยให้บริษัทสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของเงินลงทุน สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการลงทุน รวมถึงต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนและครบถ้วนตามข้อกำหนดของมาตรฐาน
สรุปการประเมินมูลค่าบริษัท (Fair Value Valuation) สามารถทำได้โดยอ้างอิงแนวคิด มูลค่ายุติธรรม (Fair Value) ซึ่งพิจารณาจากข้อมูลสำคัญต่าง ๆ อาทิ ข้อมูลสำคัญบนงบการเงิน ข้อมูลแผนการดำเนินกิจการในอนาคต ข้อมูลนโยบายการบริหารจัดการ เป็นต้น ซึ่งการประเมินมูลค่าบริษัทไม่เพียงแต่ใช้สำหรับการซื้อขายหรือควบรวมกิจการเท่านั้น หากบริษัทต้องการประเมินราคาทุนหรือมูลค่าเงินลงทุนในกิจการอื่น การประเมินมูลค่ายุติธรรม (Fair Value) ของบริษัท ก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงมูลค่าที่แท้จริงของการลงทุนได้เช่นกัน
ABS รับประเมินมูลค่าหุ้นและบริษัทด้วยหลักการของมูลค่ายุติธรรม (Fair Value)
โดยบริษัท ABS มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการประเมินมูลค่าหุ้นด้วยมูลค่ายุติธรรม (Fair Value) ซึ่งสามารถให้ความช่วยเหลือบริษัทตั้งแต่การเก็บรวบรวมข้อมูลสำคัญในการประเมิน วิเคราะห์ อธิบายวิธีการประเมินตลอดจนการตอบคำถามผู้สอบบัญชี ซึ่ง ABS จะอ้างอิงหลักการและวิธีการที่สอดคล้องกันกับมาตรฐานและหลักการดำเนินงานสากลเพื่อให้บริษัทสามารถมั่นใจได้ถึงผลลัพธ์และคุณภาพของการประเมิน