
การจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ (Share-based Payment) ตาม TFRS 2 คือ?
Share-based Payment หรือ "การจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์" คือ การที่บริษัทจ่ายค่าตอบแทนให้แก่พนักงาน กรรมการ หรือบุคคลภายนอกในรูปแบบของ หุ้นสามัญ หรือ สิทธิซื้อหุ้น (เช่น Stock Options, Warrants หรือ Performance Shares) แทนการจ่ายด้วยเงินสด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจการทำงานในระยะยาว สร้างความผูกพันกับองค์กร หรือชำระค่าตอบแทนสำหรับบริการและสินค้าที่บริษัทได้รับ
ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน TFRS 2: การจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ (Share-based Payment) หมายถึง รายการที่กิจการ
-
ได้รับสินค้าหรือบริการจากคู่สัญญาที่ส่งมอบสินค้าหรือบริการ (รวมถึงพนักงาน) โดยมีข้อตกลงในการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ หรือ
-
ก่อให้เกิดภาระผูกพันที่ต้องชำระให้คู่สัญญาโดยมีข้อตกลงในการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ เมื่อกิจการอื่นในกลุ่มได้รับสินค้าหรือบริการ
ภายใต้มาตรฐาน TFRS 2 บริษัทต้องรับรู้รายการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของสินค้าและบริการที่ได้รับ และนำเสนออย่างโปร่งใสในงบการเงิน โดยเฉพาะรายการที่เกี่ยวข้องกับการให้หุ้น หรือสิทธิซื้อหุ้นเป็นค่าตอบแทน บริษัทต้องบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน และจำแนกเป็นส่วนของเจ้าของ (Equity) หรือหนี้สิน (Liability) ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกรรม โดยต้องวัดมูลค่าด้วยราคายุติธรรมอย่างเหมาะสม
ตัวอย่างธุรกรรม Share-based Payment ที่พบได้บ่อย:
-
โครงการให้สิทธิพนักงานซื้อหุ้น (Employee Stock Option Plan: ESOP)
-
การแจกหุ้นให้พนักงานหรือกรรมการ (Restricted Shares / Performance Shares)
-
การให้สิทธิ SAR (Share Appreciation Rights) ที่อิงราคาหุ้นในอนาคต
-
โครงการร่วมลงทุนระหว่างบริษัทกับพนักงาน (Employee Joint Investment Program: EJIB) ที่มีเงื่อนไขเข้าข่ายข้อตกลงการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์
ทำไมต้องประเมินมูลค่า Share-based Payment?
การประเมินมูลค่า Share-based Payment มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดทำงบการเงิน เพราะช่วยให้บริษัทสามารถ รับรู้ต้นทุนที่แท้จริงของค่าตอบแทนที่มอบให้ในรูปแบบของ หุ้นหรือสิทธิซื้อหุ้น แทนการใช้เงินสดโดยตรง ตามข้อกำหนดของ มาตรฐาน TFRS 2 บริษัทจะต้องวัดมูลค่ายุติธรรมของธุรกรรมเหล่านี้ และบันทึกลงในงบการเงินอย่างถูกต้อง เพื่อให้:
-
งบการเงินมีความ โปร่งใส และ ตรวจสอบได้
-
สะท้อน ภาระผูกพันทางการเงินที่แท้จริง
-
ผู้ใช้งบการเงิน รวมถึงนักลงทุน เข้าใจข้อมูลได้อย่างชัดเจน
ดังนั้น การประเมินมูลค่า Share-based Payment อย่างเหมาะสม จึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่บริษัทไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะในช่วงการตรวจสอบบัญชี หรือเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์
ประเภทของ Share-based Payment ตาม TFRS 2
ธุรกรรมการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ (Share-based Payment Transactions) สามารถจำแนกออกเป็น 3 ประเภทหลัก ตามแนวทางของมาตรฐานบัญชี TFRS 2 ดังนี้:
-
การจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ที่ชำระด้วยตราสารทุน (Equity-Settled Share-Based Payment Transactions)
เป็นรายการที่บริษัทมอบ หุ้นสามัญ หรือสิทธิซื้อหุ้น (เช่น ESOP) ให้พนักงานหรือคู่สัญญา โดยไม่ต้องใช้เงินสดในการชำระ บริษัทต้องวัดมูลค่าของรายการด้วย มูลค่ายุติธรรม ณ วันที่ให้สิทธิ (Grant Date) และบันทึกเป็นต้นทุนและส่วนของเจ้าของ
-
การจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ที่ชำระด้วยเงินสด (Cash-Settled Share-Based Payment Transactions)
เป็นรายการที่บริษัทจะจ่ายค่าตอบแทนเป็น เงินสด โดยมูลค่าที่จ่ายขึ้นอยู่กับ ราคาหุ้นของบริษัท ณ ช่วงเวลาที่กำหนดถือเป็น ภาระหนี้สิน และต้องมีการวัดมูลค่ายุติธรรมในทุกงวดสิ้นงวดบัญชีจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
-
การจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ที่มีทางเลือกชำระด้วยเงินสด (Share-Based Payment Transactions with Cash Alternative)
เป็นกรณีที่ผู้รับสิทธิ์หรือกิจการมีสิทธิเลือกได้ว่า จะรับชำระเป็นหุ้นหรือเงินสด ซึ่งต้องพิจารณาแยกประเมินทั้งส่วนของตราสารทุนและหนี้สินตามเงื่อนไขของแต่ละกรณี
บริบทของประเทศไทยสำหรับการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์
ในประเทศไทย ธุรกิจส่วนใหญ่ที่นำ การจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ (Share-based Payment) มาใช้ มักเลือกใช้ในรูปแบบของ Equity-settled Share-based Payment บริษัทที่มีแผนจูงใจพนักงานหรือผู้บริหาร (เช่น ESOP – Employee Stock Option Plan) ซึ่งกิจการจะจ่ายค่าตอบแทนแก่พนักงานหรือคู่สัญญา โดยการออกหุ้นสามัญ หรือสิทธิซื้อหุ้นของบริษัทเอง
ตามมาตรฐาน TFRS 2 เมื่อกิจการได้รับสินค้า หรือบริการจากบุคคลที่มีสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าว จะต้องรับรู้มูลค่าของสินค้าหรือบริการนั้น เป็นต้นทุนทันทีที่ได้รับ และบันทึกในส่วนของเจ้าของ (Equity) เพิ่มขึ้น โดยใช้ มูลค่ายุติธรรม (Fair Value) ณ วันที่ให้สิทธิ (Grant Date)
สำหรับบริษัทที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำเป็นต้องใช้ ราคาตลาดโดยประมาณของหุ้น (Estimated Fair Market Value) โดยอาจอ้างอิงจากการประเมินมูลค่าโดยผู้เชี่ยวชาญ และพิจารณาปรับมูลค่าตามเงื่อนไขและข้อจำกัดของสิทธิที่ออกให้

วิธีการประเมินมูลค่ายุติธรรมของสิทธิซื้อหุ้น
ในการดำเนินโครงการ Share-based Payment โดยเฉพาะการให้ สิทธิซื้อหุ้นแก่พนักงาน (เช่น ESOP) บริษัทมักต้องประเมิน มูลค่ายุติธรรมของสิทธิ เนื่องจากสิทธิซื้อหุ้นดังกล่าว ไม่มีราคาตลาดที่ชัดเจน เหมือนกับหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ มาตรฐานการรายงานทางการเงิน TFRS 2 สามารถใช้แบบจำลองทางการเงิน (Option Pricing Models) เพื่อประเมินมูลค่ายุติธรรมของสิทธิได้ โดยแบบจำลองที่นิยมใช้ มีดังนี้:
-
Black-Scholes-Merton Model (BSM)
BSM เป็นแบบจำลองที่ใช้ประเมินมูลค่าของ สิทธิซื้อหุ้นแบบ European Option ซึ่งผู้ถือสามารถใช้สิทธิได้ เพียงครั้งเดียว ณ วันหมดอายุ เท่านั้น
-
Binomial Option Pricing Model (BOPM)
BOPM เป็นแบบจำลองที่ยืดหยุ่นมากกว่า BSM เหมาะกับ สิทธิที่มีเงื่อนไขซับซ้อน สามารถใช้ประเมินได้ทั้ง:
-
สิทธิแบบ European Option (ใช้สิทธิได้วันเดียว)
-
และแบบ American Option (ใช้สิทธิได้ทุกช่วงเวลาก่อนวันหมดอายุ)
ABS รับประเมินมูลค่ายุติธรรมสำหรับการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ (Share-based Payment)
บริษัท ABS มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการประเมินมูลค่ายุติธรรมของรายการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ (Share-based Payment) ตามมาตรฐาน TFRS 2 โดยใช้แบบจำลองทางการเงินที่เป็นสากล เช่น Black-scholes-merton และ Binomial Model ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือบริษัทตั้งแต่เก็บรวบรวมข้อมูลสำคัญในการประเมิน อธิบายวิธีการประเมินตลอดจนการตอบคำถามผู้สอบบัญชี โดยอ้างอิงหลักการและวิธีการที่สอดคล้องกันกับมาตรฐานและหลักการดำเนินงานสากลเพื่อให้บริษัทสามารถมั่นใจได้ถึงผลลัพธ์และคุณภาพของการประเมิน