
Expected Credit Loss (ECL) สำหรับตราสารหนี้ (Debt Instruments) ตามมาตรฐาน TFRS 9 คืออะไร?
Expected Credit Loss (ECL) หรือ "ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น" คือมูลค่าที่กิจการคาดว่าจะไม่ได้รับคืนจากการลงทุนในตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ หรือพันธบัตรเอกชน อันเนื่องมาจากความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารไม่สามารถชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นได้ตามเงื่อนไข
มาตรฐานการรายงานทางการเงิน TFRS 9 ได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดจาก Incurred Loss Model มาเป็น Expected Credit Loss Model ซึ่งกำหนดให้กิจการต้องประเมินความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นล่วงหน้า และตั้งสำรอง ECL ตั้งแต่วันแรกที่รับรู้ตราสารหนี้ในงบการเงิน
ตราสารหนี้ (Debt Instruments หรือ Bonds) คืออะไร?
ตราสารหนี้ (Debt Instruments หรือ Bonds) คือ สินทรัพย์ทางการเงิน ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือตราสารในการเป็น “เจ้าหนี้” ของผู้ออกตราสาร โดยมีสิทธิได้รับ ดอกเบี้ย และ เงินต้นคืน ตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญา ตราสารหนี้ที่พบได้บ่อย เช่น หุ้นกู้ (Debentures), พันธบัตร (Bonds), ตั๋วแลกเงิน (Bills of Exchange) หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Notes)
ตราสารหนี้จะแตกต่างจากตราสารทุน (Equity Instruments) ซึ่งแสดงถึงฐานะ "เจ้าของกิจการ" ที่มีความเสี่ยงสูงกว่า และไม่มีสิทธิได้รับชำระเงินคืนก่อนกรณีที่กิจการมีปัญหา
ตราสารหนี้สามารถแบ่งตามผู้ออกเป็น 2 ประเภท:
-
ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐ (Government Bonds)
เช่น พันธบัตรรัฐบาล, ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bills)
-
ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bonds)
เช่น หุ้นกู้, พันธบัตรเอกชน โดยอาจจำแนกเพิ่มเติมได้เป็น:
-
Secured Bonds: มีหลักประกัน
-
Unsecured Bonds: ไม่มีหลักประกัน
-
Subordinated Bonds: หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
-
Callable/Puttable Bonds: หุ้นกู้ที่สามารถไถ่ถอนก่อนกำหนดได้
หากบริษัทลงทุนในตราสารหนี้หรือ Bonds เหล่านี้ แล้วเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น ผู้ออกตราสารมีปัญหาทางการเงิน บริษัทจะมีความเสี่ยงไม่ได้รับคืนเงินต้นหรือดอกเบี้ย การประเมิน Expected Credit Loss (ECL) จึงเป็นการสะท้อนความเสี่ยงและมูลค่าที่อาจไม่ได้รับคืนอย่างเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ของ TFRS 9
ทำไมต้องประเมิน Expected Credit Loss (ECL) สำหรับตราสารหนี้?
มาตรฐานบัญชีชุดใหญ่หรือกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Publicly Accountable Entities: PAEs) ตั้งแต่รอบบัญชี 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะต้องประเมิน ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss: ECL) สำหรับเครื่องมือทางการเงินรวมถึง ตราสารหนี้ (Debt Instruments)
การประเมิน ECL มีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจและการจัดทำงบการเงิน ด้วยเหตุผลหลักต่อไปนี้:
-
สะท้อนมูลค่าปัจจุบันของสินทรัพย์ทางการเงินอย่างเหมาะสม
ช่วยให้บริษัทรับรู้สถานะความเสี่ยงด้านเครดิตของตราสารหนี้ได้ทันทีตั้งแต่วันแรกที่รับรู้รายการ ไม่ต้องรอให้เกิดการผิดนัดชำระจริง (proactive risk recognition)
-
วางแผนนโยบายบริหารความเสี่ยงได้อย่างทันท่วงที
การมีข้อมูล ECL ที่แม่นยำช่วยให้บริษัทสามารถออกแบบแผนป้องกันความเสี่ยงหรือปรับกลยุทธ์การลงทุนได้ทันก่อนความเสียหายจะเกิดขึ้นจริง
-
สร้างเสถียรภาพให้กับงบการเงิน
การตั้งสำรองอย่างเป็นระบบตามหลักเกณฑ์ของ TFRS 9 ช่วยลดความผันผวนของงบการเงินในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับแนวทางเดิมที่ไม่ประเมินล่วงหน้า

แนวทางการประเมิน ECL สำหรับตราสารหนี้ (ตามหลัก General Approach)
ภายใต้มาตรฐานบัญชี TFRS 9 การประเมินผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss: ECL) สำหรับเงินลงทุนในตราสารหนี้จะใช้หลักการของ General Approach โดยพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงของ “ความเสี่ยงด้านเครดิต” นับจากวันแรกที่รับรู้รายการ ความเปลี่ยนแปลงของความเสี่ยงดังกล่าวจะถูกจัดลำดับเป็น 3 Stage ดังนี้:
-
Stage 1 - Performing Assets
ไม่มีการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงด้านเครดิต เช่น ผู้ออกตราสารไม่เคยผิดนัดชำระ บริษัทจะประเมิน 12-month Expected Credit Loss และตั้งสำรองเฉพาะส่วนที่อาจเกิดขึ้นภายใน 12 เดือนข้างหน้า
-
Stage 2 - Underperforming Assets
หากมีการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงด้านเครดิตอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับวันแรกที่รับรู้ บริษัทจะต้องตั้งสำรองโดยใช้ Lifetime Expected Credit Loss ซึ่งครอบคลุมตลอดอายุของตราสาร
-
Stage 3 - Non-performing Assets
ในกรณีที่เกิดการผิดนัดชำระจริง (Default) จะต้องประเมินมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนจากตราสาร และตั้งสำรองสูงสุดตาม Lifetime ECL พร้อมทั้งพิจารณาผลกระทบจากมูลค่าคืนจริงที่อาจต่ำกว่ามูลค่าบัญชี
ABS รับประเมินผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) สำหรับตราสารหนี้ ตามหลักเกณฑ์ของ TFRS 9
บริษัท ABS มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการประเมินผลขาดทุนด้านเครดิตของเงินลงทุนในตราสารหนี้ ครอบคลุมการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านเครดิต การจำแนก Stage การคำนวณ ECL ตามหลัก General Approach ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือบริษัทตั้งแต่การกรอกข้อมูลสำคัญในการประเมิน ตลอดจนการตอบคำถามผู้สอบบัญชี โดย ABS จะอ้างอิงหลักการและวิธีการที่สอดคล้องกันกับมาตรฐานบัญชีและแนวทางปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อให้บริษัทสามารถมั่นใจได้ในคุณภาพของการประเมิน