
ทำไมการประเมินมูลค่าของบริษัทจึงมีความสำคัญ
หากพูดถึงการเติบโตของธุรกิจนั้นสามารถพิจารณาได้จากหลากหลายปัจจัย อาทิ รายได้ต่อปี กำไรต่อปี ส่วนของผู้ถือหุ้น กำไรสะสม และ ฯลฯ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นแผนการดำเนินงานที่ผ่านมาของบริษัทได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามหากบริษัทกำลังมองหาหนทางการขยายธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจ หรือแม้แต่แหล่งเงินทุนเพื่อขยายสาขา การอ้างอิงเพียงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งของงบการเงินที่กล่าวมาข้างต้นนั้นอาจจะไม่เพียงพอ
ดังนั้นการพิจารณาถึงมูลค่าของบริษัทนั้นสามารถเพิ่มโอกาสในธุรกิจได้ โดยสามารถแสดงให้เห็นถึง ความสามารถในการดำเนินงานที่ผ่านมาของบริษัท แนวทางการดำเนินธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แบบแผนกลยุทธ์ที่บริษัทจะเลือกใช้ในการพัฒนาและต่อยอดของธุรกิจ และ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้ผู้ใช้งบหรือผู้ที่สนใจในการลงทุนอื่น ๆ นั้นสามารถเข้าใจและเห็นเป้าหมายและความสำเร็จไปพร้อมกันกับบริษัทได้
โดยการประเมินมูลค่าของบริษัทนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงแต่บริษัทที่เป็นเจ้าของเท่านั้น แต่หากบริษัทได้มีการร่วมลงทุนในบริษัทหรือกิจการอื่น ๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน ทั้งนี้ภายหลังการประเมินมูลค่า วัตถุประสงค์ในการใช้งานจะขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท
ยกตัวอย่างเช่น
1. เพื่อใช้สำหรับการควบรวมหรือซื้อขายของกิจการ/บริษัท (Merge and Acquisition)
2. เพื่อใช้สำหรับพิจารณาการตัดสินใจภายในของกิจการ/บริษัท (Making Decision)
3. เพื่อใช้สำหรับการขยายโอกาสทางธุรกิจเช่นการเปิดรับการลงทุนในลักษณะของการร่วมทุน (Joint Venture)
4. เพื่อใช้สำหรับการเพิ่มทุนของบริษัท
5. เพื่อใช้สำหรับการรายงานและแสดงมูลค่าที่แท้จริงของการดำเนินงานของธุรกิจภายใต้งบการเงินที่เป็นมาตรฐาน
6. เพื่อใช้สำหรับการพิจารณาทางการเงินอื่น ๆ
วิธีการประเมินมูลค่าบริษัท
การประเมินมูลค่าบริษัทนั้นสามารถทำได้หลายวิธีโดยขึ้นอยู่กับความพร้อม ข้อจำกัดและความเหมาะสมของวิธีการ ยกตัวอย่างเช่น
1. วิธีมูลค่าตามบัญชี (Book Value Approach)
เป็นวิธีการประเมินมูลค่าทางบัญชีตามงบการเงินรวมของบริษัท ประเมินได้จากการนำสินทรัพย์รวมลบหนี้สินรวม ดังนั้น หากบริษัทปิดกิจการและขายสินทรัพย์ทั้งหมดหลังจากชำระหนี้สินทั้งหมดแล้ว ส่วนแบ่งจากสินทรัพย์ที่เหลือก็จะถูกแบ่งคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทตามสัดส่วนเท่าๆ กัน เรียกว่า มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Book Value per Share)
2. วิธีอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Price to Book Value Ratio Approach : P/BV)
เป็นวิธีการที่อ้างอิงอัตราส่วนทางการเงินที่เปรียบเทียบระหว่างราคาตลาดของหุ้น ณ วันที่ประเมิน กับมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Book Value per Share) ตามงบการเงิน โดย P/BV จะบ่งบอกถึงราคาหุ้น ณ ขณะนั้นมีมูลค่ามากเป็นกี่เท่าของมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น
3. วิธีประเมินโดยใช้อัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรต่อหุ้น (Price to Earnings per Share Ratio Approach : P/E)
เป็นวิธีการที่อ้างอิงอัตราส่วนทางการเงินที่เปรียบเทียบระหว่างราคาตลาดของหุ้น ณ วันที่ประเมิน กับกำไรต่อหุ้น (Earnings per Share) ตามงบการเงิน โดยที่ P/E จะบ่งบอกถึงระยะเวลาในการคืนทุน และความถูกหรือแพงของหุ้น
4. วิธีมูลค่าหุ้นตามราคาตลาด (Market Price Approach)
เป็นวิธีการประเมินมูลค่าหุ้นของบริษัท โดยจะนำมาเปรียบเทียบกับราคาตลาดของหุ้น (Market Price) เพื่อพิจารณาว่าหุ้นนั้น Overvalue หรือ Undervalue หรือไม่ ซึ่งโดยปกติจะใช้ราคาตลาดถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักย้อนหลัง 7-15 วันในการพิจารณาร่วม
5. วิธีมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดสุทธิ (Discounted Cash Flow Approach)
เป็นวิธีการประเมินมูลค่าของบริษัท โดยคำนึงถึงผลการดำเนินงานของบริษัทในอนาคตที่คาดว่าจะได้รับจากการประมาณการทางการเงินของบริษัทโดยปกติแล้วจะมีการพิจารณาตลอดช่วงระยะเวลา 5 – 10 ปีข้างหน้าเพื่อให้สามารถพิจารณามูลค่าของบริษัทได้อย่างเหมาะสม
6. วิธีกำไรคงเหลือ (Residual Income)
เป็นวิธีการประเมินมูลค่าของบริษัท โดยคำนึงถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสของผู้ถือหุ้น (Shareholder’s Opportunity Cost) ประเมินกำไรคงเหลือได้จากผลแตกต่างระหว่างกำไรสุทธิ (Net Income) แลต้นทุนเงินทุนของส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity Change) ในแต่ละปีบริษัทจะสร้างกำไรคงเหลือแก่ส่วนของผู้ถือหุ้น ดังนั้นในการประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธีกำไรคงเหลือนั้นจะสามารถทำได้คล้ายกับวิธีกระแสเงินสดต่อผู้ถือหุ้น โดยการคิดลดกำไรคงเหลือของกิจการในแต่ละปีด้วยต้นทุนของส่วนของต้นทุน (Cost of Equity)
7. วิธีมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ (Economic Value Added: EVA)
เป็นการประเมินมูลค่าที่แท้จริงที่ผู้บริหารในองค์กรสามารถเพิ่มให้แก่ธุรกิจ โดยอาศัยแนวคิดของกำไรทางเศรษฐศาสตร์ หรือกำไรคงเหลือ (Residual Income) ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างผลกำไรจากการดำเนินงานและต้นทุน ทั้งที่เป็นส่วนของเจ้าหนี้และส่วนของเจ้าของ ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตจากแนวคิดเดิมที่คำนึงถึงเฉพาะกำไรสุทธิทางบัญชีที่นำเฉพาะต้นทุนของเจ้าหนี้ (ดอกเบี้ยจ่าย) มาพิจารณาแต่เพียงอย่างเดียว
บริษัท ABS มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการประเมินมูลค่าของบริษัทและมูลค่าของหุ้น ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือบริษัทตั้งแต่การกรอกข้อมูลสำคัญในการประเมิน อธิบายวิธีการประเมินตลอดจนการตอบคำถามผู้สอบบัญชี ซึ่ง ABS จะอ้างอิงหลักการและวิธีการที่สอดคล้องกันกับมาตรฐานและหลักการดำเนินงานสากลเพื่อให้บริษัทสามารถมั่นใจได้ถึงผลลัพธ์และคุณภาพของการประเมิน